Monday, July 5, 2010

เพ่งลมสงบใจ


๑๗๘]ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่อุปัฏฐานศาลาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์
ที่จัดไว้ถวาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้ง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล 
ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็น
คุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธาน
สงบไปโดยฉับพลัน 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม 
อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจ
เข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึก
ว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่า
หายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อม
สำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจ
เข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับ
จิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจัก
รู้แจ้งซึ่งจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยัง
จิตให้บันเทิงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บรรเทิงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจัก
พิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง
หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจัก
พิจารณาเห็นวิราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า ย่อม
สำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็น
ปฏินิสสัคคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจออก 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้ว
อย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น
แล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน.

Monday, February 22, 2010

ประวัติธรรมศึกษา - เรื่องเล่าเล่นๆ ของคนนอกวัด

ประวัตินักธรรม
ธรรมศึกษาตรี

การศึกษานักธรรมในครั้งนั้น เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ

ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่มิใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประดยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตรประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า "ธรรมศึกษาตรี" ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน

ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.)

ธรรมศึกษาโท
เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๙.)

ธรรมศึกษาเอก
พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอกและอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมศาสนา, พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.) หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ

การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้สนหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังที่กล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง

หลักสูตรพุทธานุพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑, เล่ม ๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา


Thursday, December 17, 2009

วันละเรื่อง.....

วันละเรื่อง.....: "ว่ากันว่า การฝึกฝนตนเองให้มีนิสัยใหม่ๆ นั้น ต้องใช้ทั้งเวลา ความตั้งใจ รวมทั้งความสม่ำเสมอด้วย จึงจะทำให้นิสัยนั้นๆ ติดตัวเราไปได้ค่ะ

ในเรื่องของสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีการสร้างนิสัยที่ดีเพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทำได้ก็รับรองได้ว่าเราจะมีความสุขการสบายใจอย่างแน่นอน หนทางสู่การมีชีวิตอย่างที่ว่านี้ มีอยู่มากมายหลายวิธีค่ะ แต่ฝรั่งเขารวบรวมไว้ว่า ในเบื้องต้นนั้นมีอยู่ 13 ประการ

มาดูกันไปทีละข้อเลยดีกว่านะคะ........

นิสัยดีข้อที่หนึ่ง กินอาหารเช้าทุกวัน

ผู้ที่กินอาหารเช้าเป็นประจำถือเป็นแชมเปี้ยนของผู้มีสุขภาพดีค่ะ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่กินอาหารเช้ามีแนวโน้มที่จะได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินและเกลือแร่มากกว่า และได้รับไขมันและคอเลสเทอรอลน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลให้คนกินอาหารเช้าจะมีหุ่นผอมเพรียวกว่า มีระดับคอเลสเทอรอลต่ำกว่า และมีโอกาส 'กินมากเกินไป' น้อยกว่าด้วยค่ะ

นิสัยดีข้อที่สอง กินปลา และกินอาหารที่มีไขมันโอเมกา-3

ปลานั้นเป็นแหล่งโปรตีนที่เยี่ยมยอดค่ะ แถมปลาบางชนิดยังมีไขมันชนิดดี คือ ไขมันโอเมกา-3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูนา ปลาซาร์ดีน (พวกเรา! อย่ามองข้ามปลากระป๋อง) ถ้าจะไม่กินปลาก็กินเต้าหู้หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองก็ได้ค่ะ เนื่องจากในถั่วเหลืองจะมีกรดอัลฟา-ลิโอเลนิก ซึ่งจะเปลี่ยนเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็จะเป็นผลดีต่อหัวใจ และไปช่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันด้วย เพราะดูเหมือนว่าโอเมกา-3 จะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ หอบหืด แผลเปื่อย และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างด้วยค่ะ

นิสัยดีข้อที่สาม นอนหลับให้เพียงพอ

ร่างกายของเราต้องการพักผ่อนที่เพียงพอค่ะ ไม่เช่นนั้น เราจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและฉุนเฉียวง่าย การนอนหลับนั้นมีความสำคัญต่อทั้งร่างกายและอารมณ์เลย การนอนน้อยทำให้สมองไม่แจ่มใส เรียนรู้อะไรก็ไม่ค่อยเข้าหัว ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลก็จะไม่ค่อยมี ส่วนการพักผ่อนที่เพียงพอของเรานั้น หมายถึงควรจะนอนกันอย่างน้อยก็ 7 ชั่วโมง แต่ตัวเลขนี้ก็อาจเปลี่ยนไปตามอายุได้ค่ะ เช่น เด็กก็น่าจะนอนมากกว่านี้ค่ะ

นิสัยดีข้อที่สี่ เข้าสังคมบ้าง

เราสามารถเข้าสังคมได้หลายวิธีค่ะ เช่น ไปทำงานเป็นอาสาสมัคร ไปวัด ร่วมกิจกรรามในชมรมอะไรสักอย่าง หรือทำอะไรก็ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องและพบปะผู้คน การพบปะสังสรรค์นอกจะทำให้เราเป็นผู้มีสุขภาพจิตดีแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ (ออกจากกะลา) บางทีอาจได้รับความคิดดีๆ คำปรึกษาจากคนอื่นๆ ด้วยก็ได้ค่ะ

นิสัยดีข้อที่ห้า ออกกำลังกาย

ข้อนี้คงไม่ต้องพูดกันมากเลยนะคะ การออกกำลังกายนั้นเป็นผลดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว เป็นสิ่งดีๆ ที่ควรทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้เรากระฉับกระเฉง และช่วยเราหลายอย่าง เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนัก ทำให้กระดูกและข้อต่อต่างๆ แข็งแรง ลดโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ทำให้สุขภาพจิตดี แถมยังมีแนวโน้มว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วยนะคะ

นิสัยดีข้อที่หก รักษาสุขภาพปากและฟัน

ข้อมูลของฝรั่งบอกว่า หากเราทำความสะอาดฟันด้วยไหมขัดฟันทุกวัน จะทำให้เราอายุยื่นขึ้นอีก 6.4 ปีแน่ะ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือ ในช่องปากของเรานั้นมีเส้นเลือด และเส้นเลือดเหล่านั้นก็มาจากหัวใจ ตอนนี้นักวิจัยเชื่อว่า แบคทีเรียที่อยู่ในปาก สามารถเล็ดลอดเข้าไปในกระแสเลือด แล้วไปทำให้เกิดโรคหัวใจได้ค่ะ นอกจานี้ยังพบว่าแบคทีเรียในปากยังไปมีเอี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน การคลอดก่อนกำหนด และการที่เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติด้วยค่ะ ล้ำลึกจริงๆ เลยนะคะ แต่ถึงจะไม่เกี่ยวกัน เราก็ควรรักษาปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะมันเป็นเรื่องของความงามและบุคลิกภาพด้วยนั่นเองค่ะ

นิสัยดีข้อที่เจ็ด ทำงานอดิเรก

งานอดิเรกก็คือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำนะคะ งานอดิเรกจะทำให้เราได้ผ่อนคลายและเพลิดเพลิน บางคนอาจจะชอบทำงานฝีมือ ดูนกเล่นกีฬา ไปเดินตลาดนัดอย่างสวนจตุจักร ก็แล้วแต่ความชอบค่ะ และความเพลิดเพลินนี้จะทำให้เรามีความสุข สุขภาพแข็งแรง ถ้าป่วยอยู่ก็จะฟื้นไข้อย่างรวดเร็ว และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทำกิจกรรมในงานอดิเรกจะช่วยเผาผลาญแคลอรีให้เราด้วย ดีกว่านั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าทีวีเป็นไหนๆ ค่ะ

นิสัยดีข้อที่แปด ดูแลปกป้องผิวพรรณ

ผิวพรรณของเรานั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาแก่ตัวตั้งแต่เราเกิดแล้วละค่ะ และวิธีที่จะปกป้องผิวพรรณของเราก็คือ พยายามไม่ออกไปตากแดดแรงจัด เนื่องจากแสงแดดนั้นมีรังสียูวีที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่นแห้งและเกิดริ้วรอย หากตากแดดนานๆ ผิวก็อาจไหม้ บวมแดง และถ้ารุนแรงมากก็อาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ฝรั่งผิวขาวมากๆ เขาก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ออกแดดเลย หรือถ้าต้องการออกแดดก็จะต้องป้องกันอย่างดีเชียวค่ะ แต่ส้มโอมือว่าออกไปตากแดดเพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีบ้างก็ดีนะกระดูกจะได้แข็งแรง แต่ก็ควรเลือกช่วงวลาที่แดดไม่จัด เช่นก่อน 10 โมงเช้า หรือหลังบ่ายสามโมงเย็นไปแล้วค่ะ

นิสัยดีข้อที่เก้า เลือกกินขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพ

ของขบเคี้ยวที่แนะนำนั้น เน้นที่ผักผลไม้เป็นหลักค่ะ เพราะผักผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ชะลอความชรา เพิ่มความจำ ดีต่อหัวใจและเสริมภูมิคุ้มกันอีกด้วย ถ้าคุณชอบกินขนม ก็ขอให้พยายามลดขนมลงแล้วหันมาหาผลไม้แทน และช่วงเวลาที่เหมาะที่จะกินผลไม้มากที่สุดก็คือ ระหว่างมื้ออาหาร ตอนที่รู้สึกหิวค่ะ

นิสัยดีข้อที่สิบ ดื่มน้ำ ดื่มนม

ร่างกายของคนเราแต่ละคนต้องกาน้ำไม่เท่ากันนะคะ น้ำมีบทบาทสำคัญในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น หล่อลื่นข้อต่อ เป็นองค์ประกอบเพื่อให้อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต และตับ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ส่วนการดื่มนมนั้นจะทำให้ร่างกายของเราได้รับแคลเซียม ซึ่งจำเป็นต่อกระดูกและฟัน และถ้าหากคุณๆ กังวลเรื่องไขมัน ก็ขอให้หันมาดื่มนมไขมันต่ำแทนก็แล้วกัน

นิสัยดีข้อที่สิบเอ็ด ดื่มชา

คุณผู้อ่านที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็คงจะทราบแล้วว่า สรรพคุณของน้ำชานั้นมีไม่น้อยเลย เป็นต้นว่า ช่วยในเรื่องความจำ ป้องกันฟันผุ มะเร็ง และโรคหัวใจ โดยเฉพาะในน้ำชามีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ และถ้าคุณผู้อ่านเบื่อรสชาติเดิมๆ ของน้ำชาก็อาจผสมชากับน้ำผลไม้ก็ได้นะคะ

นิสัยดีข้อที่สิบสอง เดินเป็นนิตย์

การเดินเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่งที่เราสามารถผสมผสานเข้าไปในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น ใช้บันไดแทนลิฟต์ เดินไปเดินมาระหว่างคุยโทรศัพท์ แปรงฟัน เป็นต้น จำไว้ให้ขึ้นใจเลยนะคะว่า ทุกๆ 20 ก้าวที่เราเดิน เราเผาพลังงานไป 1 แคลลอรีค่ะ

นิสัยดีข้อที่สิบสาม วางแผน สิ่งดีๆ จะไม่อุบัติขึ้นเฉยๆ นะค่ะ

ทุกอย่างต้องผ่านการวางแผนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เพื่อให้คุณมีสุขภาพดี มีผิวพรรณดี ได้ออกกำลังกาย ได้เข้าสังคม เพลินกับงานอดิเรกทุกอย่าง ล้วนมาจากการวางแผนทั้งนั้นเลยค่ะ เพราะฉะนั้น ข้อนี้สำคัญมากนะคะ อย่าลืม

ครบหมดทั้ง 13 ข้อแล้ว และอย่างที่ส้มโอมือบอกไว้ในตอนที่แล้วนั่นแหละค่ะ การฝึกฝนตนเองให้มีนิสัยใหม่ๆ นั้น ต้องอาศัยเวลา ต้องตั้งใจจริง และต้องเสมอต้นเสมอปลาย นิสัยดีๆ ทั้งหมดจึงจะมาอยู่กับเราพยายามด้วยกันนะคะ เส้นทางสร้างนิสัยดี ที่ส้มโอมือกำลังพยายามอยู่นี้ จะได้ไม่เหงาจนเกินไป"

การฝึกหายใจเพื่อการผ่อนคลาย

การฝึกหายใจเพื่อการผ่อนคลาย: "ทุกวันนี้แม้ว่าผู้คนจะตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ทั้งในเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย หากแต่ด้วยวิถีชีวิตประจำวันที่รีบเร่งและเพียบพร้อมด่วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้หลายๆ คนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าใดนัก ฉะนั้น หลังจากการทำงานหนัก ร่างกายของคุณควรได้รับการบำบัดให้คลายความเมื่อยล้าเพื่อช่วยปรับกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกข้อต่างๆ ให้เข้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ทั้งยังลดความปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี
ลองฝึกการหายใจเพื่อการผ่อนคลายง่ายๆ ด้วยท่าง่ายๆ ต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เวลาเพียง 10 - 15 นาที ก่อนการทำสมาธิในช่วงเช้าตรู่หรือก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายกายและใจ และยังได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย

เริ่มด้วยการสูดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ และเป็นจังหวะช้าๆ โดยใช้วิธีการหายใจในแบบของโยคะ นั้นคือ การหายใจเข้า - ท้องพองประมาณ 4 วินาที และหายใจออก - ท้องยุบลงอีกประมาณ 8 วินาที หากฝึกได้เช่นนี้แล้วเราจะได้ 'พลังสงบภายใน' ที่นิยมเรียกกันว่าสมาธินี้เป็นวิธีเก่าแก่ที่ก่อให้เกิดความสงบเยือกเย็นจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่งท นอน หรือการเคลื่อนไหวอื่นใด ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราอาจฝึกสมาธิทุกคืนก่อนเข้านอนก็ได้ โดยให้เพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเพ่งที่ร่างกาย เพ่งที่ธรรมชาติ เพ่งที่ลมหายใจ หรือการนับการย่างก้าว โดยให้เน้นที่ลมหายใจเข้า หายใจออก และปล่อยวาง มันจะทำให้กายและจิตเกิดดุลยภาพ รู้สึกสดชื่นและมีความสุข การหายใจแบบนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่กล้ามเนื้อการที่เราหายใจเร็วเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดขึ้นได้
ต่อไปเป็น ท่ากักลมหายใจ เริ่มจากนั่งขัดสมาธิในท่าตรงหรี่เปลือกตาลงเบาๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ให้เต็มปอดแล้วกักลมหายใจไว้นับ 1-6 ในใจ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกแผ่วๆ เบาๆ แล้วหยุด กลืนน้ำลายลงคอเบาๆ ก่อนแล้วค่อยๆ สูดลมหายใจเข้ากักลมหายใจอีกครั้ง ผ่อนลมหายใจเบาๆ ทำซ้ำอีกสัก 5 ครั้ง และเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ฝึกการหายใจเช่นนี้ ไม่เพียงแค่ผ่อนคลายเท่านั้นแต่ยังเอื้อผลต่อดีสุขภาพ เพราะลมที่กักไว้จะทำให้หัวใจเราเต้นแรง หลอดเลือดจะขยายโลหิตจะไหลเวียนได้มากยิ่งขึ้น ใครที่เป็นโรคเส้นโลหิตอุดตัน หรือเป็นโรคความดัน การฝึกการกักลมหายใจจะช่วยรักษาอาการได้

หากเราฝึกปฏิบัติการหายใจเพื่อการผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณผ่อนคลาย ร่างกายยืดหยุ่นไม่เกร็ง และยังทำให้ร่างกายสามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ขอเพียงแต่เติมความมุ่งมั่นตั้งใจลงไป แล้วคุณจะพบกับหนทางใหม่ที่แสนง่ายดายในการนำสุขภาพดีมาสู่ตัวคุณเอง"

ผมป่วยทางใจ! ใครช่วยได้บ้าง

ผมป่วยทางใจ! ใครช่วยได้บ้าง: "ผมป่วยทางใจ! ใครช่วยได้บ้าง

ท่านผู้อ่านครับ ผมในฐานะที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยทางใจหรือผู้ป่วยจิตเวชอยู่ตลอดมา มักจะถูกถามจากผู้ป่วยเสมอว่า เขาเป็นโรคอะไรแน่ ที่ใครๆ เขาว่าป่วยทางจิตนั้น เป็นโรคจิตหรือไม่ อยากรู้จริงๆ

ผมขอตอบได้เลยว่า บุคคลที่ถามเช่นนี้มักจะรู้ว่าตนเองป่วย และถูกผู้อื่นมองว่าเป็นโรคจิต ถึงแม้บางครั้งไม่มีใครพูดออกมา แต่ตัวเองกลัวไปเสียเอง บางรายไปอ่านหนังสือแล้วพบว่ามีอาการตรงกันกับของผู้เป็นโรคจิตชนิดใดชนิดหนึ่งในหนังสือนั้น

เมื่อผมค่อยๆ อธิบายว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ป่วยตามที่คิดหรอก เพียงแต่มีจิตใจอ่อนแอลงเท่านั้น หากได้รับการช่วยเหลือรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย พยายามปฎิบัติตามคำแนะนำ ผมบอกได้เลยว่า อาการจะดีขึ้นแน่ๆ โอกาสจะเป็นโรคจิตไม่มีเลยครับ นอกจากนั้นมีอยู่บ่อยๆ ที่ผู้ป่วยกลับสามารถพัฒนาตนเองได้ดีขึ้นกว่าเดิมเสียอีกจนทำให้กลายเป็นคนเข้มแข็งอดทน คิดอย่างมีเหตุผล และมองผู้อื่นในแง่ดี ท่านผู้อ่านอาจเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้นะครับ ขอให้สบายใจได้

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจตามที่ผมอธิบายแล้วจะเริ่มยิ้มได้ บางรายก็ถอนหายใจก่อน แล้วพูดว่าดีใจที่ได้รู้เช่นนี้ หวังว่าหมอไม่ได้หลอก หรือพูดเพียงให้สบายใจเท่านั้น ถ้าหมอยืนยันคงทำให้เขาเป็นสุขมากเมื่อกลับบ้าน ผู้ป่วยมักยิ้มได้หลังจากคุยกันได้ครึ่งชั่วโมงแล้ว

ท่านจะเห็นได้นะครับว่า ผู้ป่วยสบายใจขึ้นแล้ว เพียงได้พบพูดคุยกันเป็นครั้งแรกเท่านั้น เนื่องจากได้รับรู้ข้อเท็จจริง และได้รับคำยืนยันจากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ ด้วยทีท่าที่เป็นมิตร เยือกเย็น ยิ้มแย้มเป็นกันเองและจริงใจ ในบรรยากาศสบายๆ พูดกันอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าพึงกระทำต่อกัน ผู้ป่วยยอมรับได้ และเชื่อว่าผมพูดความจริงด้วย เมื่อสบายใจขึ้น และรู้สึกว่าจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยเหลือได้ ความกลัวเรื่องความเจ็บป่วยก็น้อยลง ยินดีที่จะมาพบกันอีก พร้อมจะปฎิบัติตนตามคำแนะนำ ผมคงจะให้คำตอบหนึ่งข้อแล้วนะครับว่า ป่วยทางใจใครช่วยได้บ้าง

ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีบุคคลอีกหลายท่าน และมีอีกหลายวิธี ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ครับ

ท่านผู้อ่านครับ ต้นเหตุของการแปรปรวนทางจิตใจที่พบบ่อยที่สุดคือ ความอ่อนแอทางจิตใจโดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็ก เป็นคนไม่หนักแน่นมั่นคง อาจเจ้าอารมณ์มองตนเองเป็นใหญ่และถูกต้องอยู่ตลอดเวลา

เมื่อศึกษาชีวิตของผู้ป่วยรายนี้จะพบว่า ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ พี่น้อง เป็นต้นเหตุที่ทำให้รู้สึกขาดรัก ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นใจ ต้องการอยากได้รับความรัก การยอมรับจากครอบครัว อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากไม่ได้รับแต่เริ่มแรกของชีวิตแล้ว ความรู้สึก ความต้องการ จะยังแน่นจนกลายเป็นนิสัยประจำตัว มีพฤติกรรมไม่ดีขยายออกไปสู่สังคมภายนอก ซึ่งแน่นอนพฤติกรรมของเขามีมีใครยอมรับได้ จึงเกิดความเครียด คิดมาก มองตนเองมีปมด้อย หรือมองผู้อื่นในแง่ร้าย

จะเห็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง จะเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันรักษาจิตใจของผู้ป่วยได้

เท่าที่ผมพบมา ปรากฎว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่ยอมรับว่าเป้นความผิดของตน กลับชอบตำหนิว่ากล่าวผู้ป่วยมากขึ้นด้วยซ้ำไป ทำให้ผู้ป่วยยิ่งมีจิตใจอ่อนแอลงตามลำดับ เมื่อโตขึ้นก็มองสังคมนอกบ้าน เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ ในแง่ร้ายเพิ่มไปด้วย

ผลก็คือจิตเขาเหมือนลูกโป่งแตกออกดังโพล๊ะ เนื่องจากมีลมอัดเพิ่มเข้าไปตลอดเวลา ลมที่เข้าไปในลูกโป่งเสมือนความกดดันทางจิตใจครับ ต้องระเบิดออกมา นั่นคืออาการแสดงออกของความผิดปกติทางจิตใจในหลายรูปแบบ

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นได้ทั้งต้นเหตุ และเป็นตัวช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วย การไม่มีมลพิษของอากาศ อาหาร และน้ำดื่ม ความพอใจในงานที่ทำ เจ้านายและผู้ร่วมงาน รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างสุขกายสบายใจ เมื่อมองสิ่งต่างๆ ล้อมรอบในด้านดีก็อยากทำดีกลับสู่สังคมบ้าง

ท่านผู้อ่านครับ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยที่สร้างหรือทำลายความสุขได้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเลยครับ

ท่านจะต้องดูแลสุขภาพกายของตนเองให้ดีด้วย มีอะไรผิดปกติไม่ควรทิ้งไว้นาน ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาเสียแต่เริ่มแรกไม่ปล่อยให้รุนแรงเรื้อรัง จะมีส่วนช่วยป้องกันและรักษาจิตใจได้ครับ แม้จะมีคำพังเพยที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ก็จริง แต่ถ้าบ่าวไม่ดี นายก็แย่เหมือนกันครับ

ฉะนั้นสรุปแล้วท่านจะเห็นว่า พ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ญาติพี่น้อง สิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจตนเอง สามารถช่วยเหลือเมื่อป่วยทางใจได้

สำหรับวิธีการรักษาด้วยการพูดคุย ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า จิตบำบัด ดังที่ผมได้เรียนท่านแล้วนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง เกิดความมั่นใจในความเจ็บป่วย การมาพบมาพูดคุยกับผู้รักษาตามนัด แล้วนำไปปฎิบัติ จะเป็นการรักษาที่ได้ผลเร็ว จนอาจมีต้องใช้ยากินเลยก็เป็นได้

ในระยะหลังมานี้ ยาทางจิตเวชสมัยใหม่ช่วยทำให้จิตใจที่แปรปรวนดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการพัฒนายาเช่นเดยวกับยารักษาทางกาย แต่ราคายังแพงอยู่ คำว่า “30 บาทรักษาได้ทุกโรค” หมายความรวมถึงโรคทางจิตใจด้วยครับ ดังนั้นผู้ป่วยและครอบครัวที่ยากจน ก็สามารถรับการรักษาเช่นเดียวกับคนรวยได้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนี้ แต่อย่ากลัวไปเลยนะครับ อย่ามองประเทศไทยในแง่ร้ายนัก วันหนึ่งในไม่ช้าสถานะการทางเศรษฐกิจของประเทศเราจะดีขึ้น

ยังมีการรักษาอีกหลายวิธีที่ใช้กับผู้ป่วยทางจิตใจ เช่นที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อม-สังคมบำบัด พฤติกรรมบำบัด การรักษาด้วยไฟฟ้าสำหรับรายที่ป่วยรุนแรงที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับตนเองและผู้อื่น การรักษาวิธีหลังนี้เห็นผลดีทันตา มีการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่ใช้อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกหลายวิธีครับ ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากผู้รักษาโดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของท่าน

ผมหวังว่าท่านจะสามารถนำเอาความรู้จากบทความนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวท่านเองและบุคคลที่ท่านรักได้นะค

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 92"

วิธีทำสมาธิแบบง่ายๆ

ที่มา - วิธีทำสมาธิแบบง่ายๆ: "วิธีทำสมาธิแบบง่ายๆ

การทำสมาธิก็เพื่อให้จิตใจสงบนี้คือเป้าหมายหลัก จิตที่นิ่งสงบดีแล้ว จะตั้งตรง ไม่เอนเอียง มีพลังขึ้นมาเอง มีประโยชน์มหาศาล เหมาะที่จะนำไปใช้ทำกิจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ความสงบทำให้ใจสบาย โล่งเบา อยู่เหนือทุกข์ เป็นอิสระ จิตที่คุ้นเคยกับความสงบจึงคลายทุกข์ได้เองโดยอัตโนมัติ (ไม่ต้อง ใช้เงิน) ใจที่สงบเย็นมีความมั่นคงแข็งแกร่ง แจ่มใสเบิกบาน มีความจำดี ทำงานเต็มประสิทธิภาพ เรียนหนังสือดีเหมือนมีอุึปกรณ์การศึกษาที่ทรงพลังอยู่กับตัว ผู้ทำสมาธิอยู่เป็นประจำจะนอนหลับสบาย สุขภาพดี นอกจากนี้ยังรักษาโรคได้หลายอย่าง โดยสรุปการทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นมหากุศลได้บุญมากเพราะจิตที่ตั้งมั่นดีแล้วสามารถยกระดับเจริญปัญญาต่อไปได้อีก

สมาธิ ทำได้หลายวิธี แต่ที่น่าจะสะดวกกับทุกคนคือวิธีกำหนดลมหายใจ คำพระเรียก อาณาปาณสติ แปลตามตัวว่า มีสติตามดูลมหายใจ เพราะทุกคนต้องหายใจอยู่แล้วตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงใช้ลมหายใจเพราะว่าสะดวกที่สุด เป็นอุปการณ์ที่หาง่าย ใช้สะดวก และสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกอริยาบท ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน (ไม่หลับ) กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ

แต่ท่าที่ครูบาอาจารย์มักแนะนำคือท่านั่ง เนื่องจากมีพุทธดำรัสสืบต่อกันมาว่า "ให้ตั้งกายตรง ดำรงสติ ขาขวาทับขาซ้าย" มีพระบาลีกำกับด้วย ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในตอนเช้า ชาวพุทธเราจึงถือว่า การนั่งสมาธิในตอนเช้ามืดนั่น มีนัยมากกว่าการนั่งสมาธิเฉยๆ แต่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจมากขึ้นด้วย และเป็นการทำพุทธานุสสติไปด้วย

ให้นั่งขัดสมาธิอย่างพระพุทธรูป เท้าขวาทับซ้าย มือขวาทับซ้าย ตัวตรง หน้าตรง มีสติสัมปชัญญะ ให้หลับตาตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่พยายามบีบตา จากนั้นให้ส่งจิตไปอยู่ที่ปลายจมูก ตามรู้ลมหายใจที่ไหลเข้า-ออก ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องปรับแต่งลมให้สั้น หรือยาว ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าที่ของเราคือ "รู้เท่านั้น" ให้จิตรู้เฉยๆ ทำไปราว ๕ ถึง ๑๐ นาทีจึงออกจากสมาธิ ผู้ที่มีทักษะแล้วอาจเพิ่มเวลาเป็น ๑๕, ๓๐, หรือ ๖๐ นาทีก็สามารถทำได้ตามสภาพชีวิตของตน

เมื่อจิตเริ่มสงบลง ผู้ปฏิบัติอาจจะรู้สึกว่า ตัวเบา ขนลุกชัน ตัวโคลงเคลง หรือน้ำตาไหล หรือตัวพองกว่าปกติ หรือลมหายใจหายไป หรือกายหายไป อย่าสนใจ ให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเท่านั้น.

การฝึกทำสมาธิแบบง่าย ๆ ประจำวัน และวิธีการทำบุญ

การฝึกทำสมาธิแบบง่าย ๆ ประจำวัน และวิธีการทำบุญ: "วิธีนั่งทำสมาธิ
ผู้บำเพ็ญสมาธิพึงนั่งขัดสมาธิราบ คือ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือหงายไว้บนหน้าตัก ตั้งตัวตรงมองทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 2 ศอก แล้วหลับตา มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ กำหนดลมหายใจเข้า – ออก พร้อมกับระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ขณะหายใจเข้า ให้กำหนดว่า “พุท” ขณะหายใจออก ให้กำหนดว่า “โธ” กำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับกำหนดพระพุทธคุณควบคู่กันไปอย่างนี้ตลอดการนั่ง ในระยะเริ่มแรกของการฝึกนั่งสมาธินั้น ผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ควรนั่งบำเพ็ญสมาธิด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10 – 15 นาทีต่อครั้งก่อน เมื่อภายหลังร่างกายเกิดความเคยชินต่อการนั่งแล้ว พึงเพิ่มเวลาให้มากขึ้นโดยลำดับ (กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล) สำหรับเวลาที่เหมาะสมกับการฝึกสมาธิที่สุดนั้น ได้แก่ เวลากลางคืน ก่อนนอน ซึ่งเป็นเวลาที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญสมาธิ หลังจากนั่งบำเพ็ญสมาธิแล้วก่อนที่จะเลิกนั่งสมาธิ ควรกราบพระรัตนตรัยอีก 3 ครั้งก่อน แล้วจึงจะเลิก ให้ทุกท่านปฏิบัติเช่นนี้ไปตลอด จักเป็นการดีสำหรับการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ"