Wednesday, December 16, 2009

การลดความอ้วนตามหลักพุทธ | ไทยโพสต์

การลดความอ้วนตามหลักพุทธ | ไทยโพสต์: "ยุคนี้ใครๆ ก็รู้ว่าความอ้วนจ้ำม่ำไม่ใช่เรื่องของความสมบูรณ์พูนสุขอีกต่อไป แต่กลายเป็นสัญญาณแห่งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าเรื้อรัง แม้กระทั่งการ 'ไว้พุง' เพียงเล็กน้อยก็ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงสภาพดังกล่าวเข้ากับความเจ็บป่วยหลายๆ โรค จนความอ้วนเริ่มถูกผูกโยงเข้ากับคำไม่น่าพึงปรารถนาอย่าง 'อายุสั้น' ไปเสียแล้ว

เว็บไซต์ http://dhammavoice.blogspot.com นำเสนอวิธีลดความอ้วนแบบพุทธ เพื่อเป็นหลักคิดและแนวทางสำหรับคนที่เริ่มอึดอัดอยากลดน้ำหนัก ให้แผนการณ์เดินหน้าแบบอิงธรรมะ โดยมีหลักฐานและหลักการทางศาสนามาสนับสนุน ดังนี้
คาถาลดน้ำหนักสุดชะงัดจากพระโอษฐ์

ในสมัยพุทธกาล ยังมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อ พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเสวยพระกระยาหารจุเกินไป ทำให้อวบอ้วนไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวก วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงทรงตรัสพระคาถา ซึ่งปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 365 หน้า 116 ว่า

'บุคคลผู้มีสติอยู่เสมอ รู้ประมาณในอาหารที่ได้มา จะมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า มีอายุยืนนาน'

ได้ฟังดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงให้พระราชนัดดาหรือหลานของพระองค์คอยกล่าวคาถานี้ทุกครั้งที่พระองค์กำลังจะเสวยพระกระยาหาร ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงลดความอ้วนได้สำเร็จเพราะคาถานี้นี่เอง

ใครที่คิดจะลดน้ำหนัก สามารถทดลองใช้วิธีเดียวกันกับพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ โดยอาจประยุกต์มาเป็นการเขียน 'คาถา' ดังกล่าวไว้ในกระดาษที่พกพาง่าย ถึงเวลารับประทานอาหารคราวใดก็หยิบกระดาษโน้ตนี้ขึ้นมาอ่านเสียเตือนใจสักนิด
หุ่นดีเพราะมีเมตตา

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งที่สอนว่า เราไม่ควรบริโภคอาหารด้วยความสนุกสนานเมามัน แต่ควรบริโภคด้วยความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาหาร ซึ่งช่วยให้เรามีชีวิตรอดต่อไปเพื่อพัฒนาตนให้พ้นจากสังสารวัฏอันยาวไกล โดยให้คำนึงถึงความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ที่ต้องยอมเสียสละชีวิตเพื่อให้เราอยู่รอด ถ้านำมาประยุกต์เป็นวิธีคิดลดความต้องการบริโภค โดยใช้พลังจินตนาการสร้างความคิด 'เชื่อมโยง' มองให้เห็นภาพความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหลัง ภาพอาหารอันน่าเอร็ดอร่อยต่างๆ ถือได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการภาวนาตามหลักพุทธศาสนา คือสร้างความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายมองให้ทะลุถึงที่สุดแห่งโอชารส

ตามปรกติปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปเมื่อรับประทานอาหารที่มีรสชาติอร่อย จิตใจย่อมรู้สึกปลาบปลื้มยินดี ทำให้รู้สึกอยากรับประทานเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะแน่นท้อง และคิดติดใจว่านี้คืออาหารโปรดของเราที่จะต้องกลับมารับประทานบ่อยๆ

วิธีการต่อไปนี้ ถือเป็น 'ท่าไม้ตาย' ในการทำลายความยึดติดในรสชาติของอาหาร นั่นคือ ฝึกจิตคิดเห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลในขณะบริโภคอาหาร เป็นวิธีที่ออกจะ 'แรง' สักหน่อย แต่อาจได้ผลชะงัด และที่สำคัญคือเป็นการฝึกจิตให้มองทะลุผ่านภาพมายาแห่งรูป รส กลิ่น เสียง และทบทวนหลักแห่งความเป็นอนิจจังไปในตัว

นั่นคือการนึกเห็นสภาพของอาหารว่าเป็นปฏิกูลในขณะที่เราขบเคี้ยวอาหารอยู่ในปาก เช่น อาจจะนึกจินตนาการให้เห็นภาพอาหารที่เราขบเคี้ยวอยู่นี้อยู่ในใจว่า มีสภาพเป็นอาจม หรือ อาเจียน หรือนึกให้เห็นอาหารนั้นอยู่ในสภาพที่เน่าบูดมีแมลงวันตอม ฯลฯ

นี่ไม่ใช่วิธีคิดที่เสนอกันแบบสนุกๆ แต่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในศัพท์แสดงของแวดวงพุทธศาสนาว่า 'อาหาเรปฏิกูลสัญญา' อันเป็นเทคนิคการคิดที่ทำให้จิตใจคลายจากความยึดติดในรสชาติของอาหาร ถอยกลับคืนสู่ความเป็นปกติ ทำให้เกิดบริโภคอย่างพอดี ไม่บริโภคมากจนเกินไป และสามารถควบคุมจิตใจของตนเองไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับอาหารโปรด แต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนไม่มีความจำเป็นต้องไปพึ่งอาศัยยา

อันที่จริงแล้วการควบคุมอาหารหรือการลดความอ้วนนี้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ของคิดแบบ 'อาหาเรปฏิกูลสัญญา' เท่านั้น แต่ผลตอบแทนอันคุ้มค่าสำหรับการฝึกคิดเช่นนี้ ท่านว่ามีอานิสงส์แรง เพราะสามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสหยาบๆ ได้ ส่งผลให้มีสุขภาพจิตผ่องใส สติปัญญาสว่างไสว อันเป็นพื้นฐานแห่งการหยั่งลงสู่ความเป็น 'อมตะ' อันได้แก่ ความไม่ตาย หลุดพ้น หมดทุกข์สิ้นเชิง."