Wednesday, December 16, 2009

การดูจิตแบบสติปัฏฐานฉบับสมบูรณ์ที่สุดและง่ายที่สุดในโลก เชิญมาพิสูจน์กันครับ จากบล็อก โอเคเนชั่น oknation.net

การดูจิตแบบสติปัฏฐานฉบับสมบูรณ์ที่สุดและง่ายที่สุดในโลก เชิญมาพิสูจน์กันครับ จากบล็อก โอเคเนชั่น oknation.net: "การฝึกจิตานุสติปัฏฐานฉบับสมบูรณ์ “ฝึกดูจิตอย่างไรให้หายเครียด”



การฝึกจิตสู่บันไดสวรรค์ ๗ ขั้น



๑. ฝึกดูจิตและใจ (ขั้นฝึกฝัน)

หลักการฝึกจิตานุสติปัฏฐาน จำต้องแยกแยะระหว่างจิตและใจให้ได้เป็นเบื้องต้น ปกติ จิตและใจจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่บางครั้งก็ขัดแย้งกันได้ เราจึงมักเรียกรวมกันว่า “จิตใจ” หรือ การสื่อสารของจิตและสมองนั่นเอง การฝึกดูการทำงานของสมองด้วยจิต หรือการฝึกดูการทำงานของจิตโดยสมองนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถฝึกได้ไม่ยากเกินความพยายามของมนุษย์ปกติ ดังต่อไปนี้



๑.๑) การฝึกใช้จิตดูใจ (สมอง)

นั่งสงบนิ่งในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นั่งแล้วสบายใจ นั่งได้นาน เช่น ริมทะเลที่สงบ หรือริมทะเลสาบกว้าง, ทุ่งนาที่สงบเงียบ, ชายเขา, ยอดเขา, ริมหน้าผา ฯลฯ เมื่อนั่งนิ่งดีแล้ว ลองสังเกตดูว่ามีความคิดอะไรผุดขึ้นมาในสมองบ้าง แล้วรับรู้เรื่องเหล่านั้นที่ผุดออกมาดับลงเมื่อใด เกิดเรื่องใหม่ๆ ผุดออกมาแทนเมื่อใด ดูความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วดับไปเพลินๆ ดูเล่นๆ อยู่กับตัวเอง ไม่ปรุงแต่งความคิดเพิ่ม ปล่อยจิตใจให้คิดไป ไม่ต่อต้าน ไม่ห้าม ดูเพลินๆ เหมือนฟังวิทยุหรือดูทีวีฉะนั้น จนรู้สึกว่าจิตใจเริ่มเบาสบาย เริ่มนิ่งลง เริ่มสงบลง จนเกิด “ช่องว่างทางความคิด” คือ “จิตว่าง” ไม่มีอะไร ไร้ซึ่งความคิดใดๆ เบาสบายสมองและจิตใจ นับว่าสำเร็จขั้นที่หนึ่ง



๑.๒) การฝึกใช้ ใจ (สมอง) ดูจิต

คราวนี้ ให้หลับลงก่อน หลับให้สบายให้สนิท โดยกำหนดจิตว่าจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างหลับโดยละเอียดและตลอดลอดฝั่ง แล้วก็ค่อยๆ หลับตาลง ปล่อยให้หลับไปตามปกติ หากเกิดความฝันขึ้น ให้รับรู้ทันทีว่ามีการฝันเกิดขึ้น ภาวะนี้ สมองจะทำการปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง หากตอนกลางวันจำอะไรค้างไว้ ก็จะทำการเคลียร์ออก เช่น ชอบสาวสวยคนหนึ่งแล้วมีเหตุให้ละความสนใจออกไป เกิดสัญญาความจำคั่งค้างในสมอง เรียกว่า “ธาตุแปรปรวน” ตอนกลางคืนก็เก็บสาวสวยมาฝันต่อได้ จนในที่สุด สมองปรับสมดุลเต็มอิ่มครบกระบวนการก็จะละทิ้งสาวสวยรายนี้ไปจนหมดสิ้น เรียกว่าหมดเวรหมดกรรมกันไป (หากไม่เจอกันอีกเลย) เป็นการชำระรอยกรรมรอยเกวียนในความฝัน กระบวนการนี้เป็นการปรับสมดุลของสมองโดยธรรมชาติ จะใช้ชำระกรรมในยามฝันได้เฉพาะกรรมที่เป็นเศษวิบากกรรม หากเป็นการชดใช้กรรมในสมาธิ อาจเห็นเป็นภาพนิมิตเช่นอดีตชาติ ก็จะได้ “ญาณระลึกชาติ” ซึ่งจัดเป็น “อภิญญา” หนึ่งในหกอภิญญา คือ ความรู้อันยิ่งยวดที่คนปกติไม่อาจรู้ได้ขนาดนี้ หากมีปัญญาเห็นว่าเป็นอดีตชาติได้เข้าใจความเป็นมาได้ นับว่าเป็นความรู้อันยิ่งยวด แต่บางครั้งการฝันเป็นการรับรู้สิ่งที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้หรือบางทีก็เป็นไปด้วยกิเลสตัณหาของตนเอง การที่สมองสามารถรับรู้ จดจำ ความฝันได้



และเมื่อตื่นขึ้นมาสามารถเล่าเรื่องราวตลอดจนเข้าใจความหมายต่างๆ ของความฝันได้ เรียกว่า “สมองดูการทำงานของจิต” เป็นแล้ว กล่าวคือ สมองเพิ่งเกิดมาในชาตินี้ จึงไม่มีสัญญาความจำในอดีตชาติแต่อย่างใด แต่บันทึกรอยกรรมในอดีตชาตินั้น รับรู้ได้ด้วยจิต เพราะจิตเป็นผู้รับรู้ถึงกรรมในอดีตชาติ หรือมีญาณสัมผัสอนาคตได้ จิตนั้นจึงสื่อสารบอกสมองทุกวันในยามหลับด้วยการฝัน ซึ่งบางครั้ง จิตไม่ได้ทำงาน สมองเป็นผู้ทำงานจึงฝันขึ้น แล้วจิตไปรับรู้ จากนั้น ก็สั่งงานให้สมองบันทึกความจำไว้ก็มี โปรดเข้าใจว่า “สัญญาขันธ์” ไม่ใช่ “เรา” และเราเป็นจิต เราไม่ใช่ร่างกายนี้ ที่ต้องสลายไปตามอายุขัย แต่เราเป็นจิตที่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้นตราบที่ไม่นิพพาน ดังนั้น เราจึงไม่มีสัญญาขันธ์ เราจึงไม่ใช่ขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่อัตตาที่จะยึดไว้ จิตรับรู้อดีตชาติได้ ไม่ใช่เพราะจิตมีสัญญาขันธ์เป็นของของมัน แต่เพราะจิตเป็นธาตุรู้ที่รับรู้ “กรรมในอดีต” ที่ย้อนกลับมาสู่จิตอีกครั้ง ประดุจดังผู้โยนผลไม้ขึ้นฟ้าย่อมต้องลงลงมาสู่พื้นดินในวันหนึ่ง กรรมเป็นคลื่นพลังงานที่จิตส่งออกไปในอดีตชาติ แล้วเดินทางย้อนกลับมาสู่จุดเดิม เมื่อจิตสัมผัสได้ก็จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวิธีต่างๆ แก่สมอง ดังนั้น การฝึกใช้ “สมองดูจิต” ที่ง่ายที่สุด คือ การฝึก “ดู, แยกแยะ, ตีความ และตรวจสอบความแม่นยำของความฝัน” นี่เอง



การฝึกใช้สมองดูจิตหรือการฝึกฝันนี้ จำต้องฝึกอย่างละเอียด เช่น เวลาฝันรับรู้ความเจ็บปวดร้อนหนาวได้หรือไม่ หรือรับรู้รสชาติใดๆ ได้หรือไม่ เพราะในยามฝัน ร่างกายไม่ได้ทำงานรับรู้ แต่จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้ ดังนั้น ในยามฝัน จึงมีความรู้สึกอร่อยเมื่อฝันว่ากินอาหารได้ เพราะการรับรู้ของจิต ลองสังเกตว่า ระหว่างการจดจำความรู้สึกอร่อยกับความรู้สึกอร่อยในความฝันใช่อย่างเดียวกันหรือไม่ หากเหมือนกันแสดงว่าความรู้สึกอร่อยในความฝันนั้น เป็น “ความจำ” หรือ “สัญญาขันธ์” ที่เก็บไว้ในสมองแล้วผุดขึ้นมายามหลับฝัน แต่หากมีความแตกต่างกัน อาจไม่ใช่ความทรงจำถึงรสชาติอร่อยที่สมองเก็บไว้ อาจเป็นการรับรู้โดยจิต โดยจิตอาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงรับรู้รสชาติของอาหารในฝันนั้นได้ เช่น จิตอาจพุ่งความสนใจไปจดจ่อยังอาหารบางชนิด แล้วดูดซับพลังงานหรือ “อาหารทิพย์” ในอาหารนั้น เพราะว่าจิตเป็นพลังงาน ย่อมมีพลังดึงดูดและผลักพลังงานในรูปแบบต่างๆ ได้ ส่วนการรับรู้รสชาติของอาหารทิพย์ เป็นการรับรู้ด้วยจิตที่แตกต่างจากการรับรู้ทางกาย ให้ฝึกสังเกตแยกแยะให้ได้ จนชัดเจนว่า “ส่วนใดคือการทำงานของสมอง” และ “ส่วนใดคือการทำงานของจิต”



๒. ฝึกแยกแยะจิตและใจ (ขั้นฝึกฌาน)

เมื่อเริ่มเข้าใจว่าความคิดและจิตเป็นคนละส่วนกัน หรือความคิดกับความรู้สึกไม่เหมือนกัน โดยการนั่งสังเกตความคิดจนความคิดดับหมดไม่มีความคิด เหลือแต่อารมณ์ความรู้สึกที่เบาสบายสงบนิ่ง และสังเกตความรู้สึกทางจิตจากการหลับฝัน จนแน่ชัดแล้วว่าจิตมีความรู้สึกและมีลางสังหรณ์ เป็นผู้รู้ ในสิ่งที่ไม่มีในสมอง เพราะสมองเป็นที่เก็บความทรงจำสัญญาขันธ์ต่างๆ ส่วนจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตัดสินใจ สั่งการและก่อกรรมต่างๆ โดยใช้สมองเป็นเหมือนโต๊ะทำงานหรือเรขานุการฉะนั้น ซึ่งเรขานุการนี้ จะเปลี่ยนไปในแต่ละชาติภพ หากตายลงจากคนไปเกิดเป็นแมว ก็จะมีเรขานุการที่มีมันสมองเท่าแมวเท่านั่นเอง จิตแม้นเป็นผู้รู้ มีความอยาก มีการสั่งการ และการกระทำใดๆ ก็ไม่อาจทำได้เท่ากับตอนที่เป็นคน เมื่อคิดได้ถึงขั้นนี้แล้ว จะนำไปสู่การฝึกขั้นต่อไป คือ การดูจิตและใจพร้อมกัน แล้วแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นจิตและใจ



ขั้นนี้ผู้ฝึกต้องหัดเข้าฌานจนสำเร็จถึง “ฌานสี่” จากนั้นก็อาศัย “วสี” คือ ความชำนาญในองค์ฌาน คอยนับองค์ฌาน ดูการเกิดและดับของความคิดและจิตใจ ลองใช้สติที่ว่องไวจับดูว่า “จิต” และ “ใจ” อะไรดับก่อนกัน อะไรหยุดทำงานก่อนกัน และเมื่อใจหยุดทำงานแล้ว จิตเดิมแท้ จิตแท้ๆ มีลักษณะการทำงานอย่างไร ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่าง “จิต” และ “ใจ” ได้อย่างชัดเจน ถึงจุดนี้ถือว่าผ่านได้



๒.๑) นั่งสมาธิในท่าที่สบายในสถานที่ที่สงบร่มเย็นชวนให้เผลอหลับ แต่เราจะต้องไม่หลับก่อนที่จะเข้าสู่ฌาน จากนั้น บอกกับตัวเองว่าจะขอพักว่างๆ สักพัก พอออกจากการพักก็จะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีปัญญาแจ่มใส ร่างกายเต็มเปี่ยมด้วยพลัง

๒.๒) เมื่อนั่งแล้วจะรู้สึกมีเรื่องราวชวนให้เลิกนั่งมากมาย เรียกว่า “ฟุ้งซ่าน” ให้ค่อยๆ จับอารมณ์ “สุขที่ได้นั่งพักสบาย” ที่มีอยู่นี้ไปเรื่อยๆ ไม่หลุด ไม่ออกจากความสุขสบายจากการพักว่างๆ สบายๆ นี้ อะไรจะเกิดก็ช่างมัน จะคิดอะไรก็ไม่ห้าม ปล่อยไป

๒.๓) เมื่อนั่งติดลมไปได้สักพักจะเริ่มกังวลว่าเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ มีเหน็บชาไหม หากมีความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อยที่ใด อย่าขยับ เพราะเราจะเข้าสู่อัปนาสมาธิ เป็นสมาธิขั้นสูงที่ร่างกายจะเหมือนตายแล้ว ให้แผ่ความรู้สึกในร่างกายส่วนนั้น ให้บางเบาลงไป จนหมดความรู้สึกว่ามีกายในส่วนนั้นๆ จนร่างกายทั้งร่างเหมือนไม่มีกายเลย

๒.๔) เมื่อกายหายไปแล้ว บางครั้งความคิดหรือจิตใจยังทำงานอยู่ เหมือนได้ยินเสียงในโสตประสาทตนเองพูดกับตนเองเบาๆ จากนั้นเริ่มเบาลงบ้าง เริ่มรู้สึกว่าเหมือนมีเสียงแต่จับความหมายไม่ได้บ้าง เรียกว่าฟังไม่ได้ศัพท์แล้ว แต่รู้สึกว่ามีอยู่ แบบนี้เข้าสู่ “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” คือ ความรู้สึกเหมือนมีสัญญาความจำได้หมายรู้ แต่ก็เหมือนไม่มี มีเหมือนไม่มีฉะนั้น จากนั้น จะเข้าสู่ภาวะดับหายไปหมด



ให้ลองพิจารณาดูว่าความคิดและจิตใจทำงานอย่างไร จนกระทั่งสิ่งต่างๆ ค่อยๆ ลบหายไปทีละอย่าง หยุดทำงานไปทีละอย่าง จนเหลืออย่างสุดท้ายที่รับรู้ได้ คืออะไร



๓. ฝึกใช้ใจตามรู้ดูจิต (ขั้นเริ่มต้นวิปัสสนา)

การฝึกในลำดับขั้นนี้ เป็นการ “สักแต่ว่าดู” โดยไม่ปรุงแต่ง ไม่เสริมเติมอันใดทั้งสิ้น จิตนั้นมีแปรเปลี่ยน จากกุศลจิต (จิตดี) ดับไป เกิด อกุศลจิต (จิตเลว) สลับกันไป ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องยื้อ ไม่ต้องออกกำลังป้องกัน ให้ตามรู้ดูจิตอย่างเดียว ขั้นนี้ให้ทำเพียงเท่านี้ สิ่งที่ได้คือ “การเจริญสติ” สติจะแก่กล้าเป็นอินทรีย์ที่กล้าแกร่งขึ้น สติจะไวมีความเท่าทันการเกิดดับของจิตตนเอง มีความเร็วและละเอียด เห็นจิตของตนเองที่เกิดดับไปอย่างละเอียดและรวดเร็วว่องไว เมื่อดูจนคล่องแล้ว ให้เพิ่มปัญญาเข้าไปในสติทุกครั้งที่ดู (จำต้องดูตลอดเวลาทั้งวัน แต่ไม่ต้องนั่งสมาธิหลับตา) ดังนี้



๓.๑) ดูแค่คิดอะไรรู้สึกอะไร แล้วเรื่องนั้น “หยุดลง ดับลง” หยุดเมื่อไรให้รู้ทันทีว่าหยุด ให้รู้ว่าเรื่องที่คิด หรือความรู้สึกนั้นๆ ดับลงไปแล้ว รู้ทันทีที่ดับหายให้เร็วๆ

๓.๒) ดูแล้วแยกแยะให้ออก ว่าจิตเรานั้นเป็น “กุศลจิต หรือ อกุศลจิต” ดูให้เห็นว่าจิตกุศลเกิดแล้วเมื่อไร ดับลงเมื่อไร มีจิตอกุศลเกิดเมื่อไร ดับลงเมื่อไร รู้ให้ทัน

๓.๓) ดูแล้วแยกแยะให้ออก ว่าจิตเรานั้นเป็น “อกุศลจิต ประเภทใด” ในสามประเภทนี้ คือ โลภะ, โทสะ, โมหะ (โลภะมีเรื่องกามเข้าไปรวมด้วย) ดูให้รู้ทันประเภทจิต

๓.๔) ดูแล้วแยกแยะให้ออก ว่าจิตเรานั้นเป็น “จิตประเภทใดใน ๑๒๑ ดวง” สามารถระบุจำแนกประเภทได้ทันทีที่จิตเกิดขึ้นแล้วดับลงก็รู้เท่าทันจนรู้จักจิตทั้ง ๑๒๑ ดวง

๓.๕) ดูจิตในจิตตนเอง แล้วดูทั้งในและนอกแยกเป็น “รูป-นาม” รูปคือ “นอก” นามคือ “ใน” ไม่สุดโต่งติดแต่ภายใน และไม่มัวหลงแต่ภายนอก ดูจิตทั้งนอกและใน เมื่อเห็นรูปแล้วเกิดนามใด (นอกกระตุ้นจิตอะไรเกิด) แล้วเมื่อใดนามดับ ดับเพราะอะไร



การดูจิตทั้งห้าขั้นนี้ จะเริ่มจากง่ายที่สุด เรียงลำดับไปสู่ยากที่สุด เมื่อเข้าสู่การดูจิตอย่างเต็มรูปแบบ จำต้องนั่งสมาธิ เพื่อดูจิตให้ครบ ๑๒๑ ประเภท ซึ่งบางประเภทจะมีเฉพาะตอนนั่งเข้าฌานเท่านั้น อีกทั้งบางประเภทจำต้องบรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปจึงเห็นได้อีกด้วย ดังนี้ จึงมักดูไม่ครบ ๑๒๑ ดวง อนุโลมให้ดูจิตแบบย่อได้ จากนั้นเข้าสู่จุดสูงที่สุดของการดูจิต คือ การดูจิตแบบ “พลวัตร” หรือ “ธรรมจักร” คือ ไม่ดูแบบนิ่งแช่ในตัวเองอย่างเดียวโดยไม่สนใจอะไรรอบตัวในโลกก็หาไม่ แต่ให้ดู “นอก-ใน” แยกเป็น “รูปนาม” เห็น “รูปนาม” เกิดดับสลับกันจนคล่อง จนชำนาญดี ก็ผ่านขั้นนี้



๔. ฝึกจิตให้มีกำลังเหนือใจ (ขั้นสมถะเสริมวิปัสสนา)

ขั้นนี้จะเริ่มกำหนดจิตด้วยคำ “บริกรรม” หรือใช้ “ธรรมนำจิต” คือ เริ่มเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เริ่มเข้าสู่ “ธรรมานุสติปัฏฐาน” ขั้นต้นแล้ว ในระยะที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่มีการกำหนดจิตเลย เพียงแต่ดูจิต ปล่อยจิต รู้เท่าทันจิตเท่านั้น จิตจึงมีอินทรีย์กล้าแกร่งขึ้นคือ “สติ” และตามด้วย “สมาธิ” ในช่วงฝึกฌาน ต่อไปนี้จะเพิ่มกำลังจิต คือ กำลัง “สมาธิ” ให้มากขึ้น ด้วยการกำหนดจิตนำทางก่อนที่จะปล่อยจิตไปเฉยๆ อย่างที่ผ่านมา เป็นการซักซ้อมก่อนเข้าสู่การต่อสู้กับใจของตนเองเพื่อเอาชนะกิเลส ให้พิจารณาเลือกวิธีกำหนดจิตตามแบบใดแบบหนึ่ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ คือ



๔.๑) “มรณานุสติ” คือ การพิจารณาเสมอว่ามีความตายเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ก่อนที่จิตจะระลึกไปถึงอะไร ก็ระลึกความตายนั้นก่อนเสมอ เช่น เห็นคนสวย คิดถึงความตายก่อนทันที ที่จิตจะระลึกนึกถึงเรื่อง “กาม” ทำอย่างนี้ในทุกสรรพสิ่ง แต่จะต้องวางจิตเป็นกลางอุเบกขา ไม่รู้สึกลบต่อความตาย หากรู้สึกลบต่อความตาย จิตจะตกและห่อเหี่ยวมีอาการทางจิต เป็นโรคจิตซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตายได้ เมื่อชำนาญดีแล้ว ถือว่าฝึกจิตสำเร็จก็ต่อเมื่อทุกครั้งที่เห็นอะไร “ระลึกความตายได้ก่อนเสมอ” จนในที่สุด จิตเกิดกำลัง “สมถะ” สามารถข่มกิเลสกำราบได้ราบคาบทุกชนิด



๔.๒) “ธรรมานุสติ” คือ ให้ระลึกถึง “ไตรลักษณ์” ได้แก่ อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ก่อนที่จิตจะแล่นไปเรื่องใดๆ ก่อนที่จะเกิดกิเลสใดๆ ก็ตาม ให้ระลึกถึงธรรมข้อนี้ก่อนเสมอ อาจกำหนดเป็นคำบริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ” ตามการเคลื่อนไหวท้องน้อยตามลมหายใจเข้าออกก็ได้ ทำตลอดทั้งวัน อย่าเผลอหลุดให้จิตเกิดกิเลสก่อน ให้ระลึกถึง “ยุบหนอ พองหนอ” ได้ก่อน จนจิตมีกำลังสมถะสูง ข่มกำราบกิเลสทุกชนิดได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดกิเลส “ยุบหนอ พองหนอ” เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง



๔.๓) “กรรมานุสติ” คือ ให้ระลึกถึง “กรรม” ก่อนที่จะเกิดความคิดหรือความรู้สึกอื่นใดเสมอ เพราะสรรพสิ่งย่อมมีสาเหตุก่อนเกิดผล และสาเหตุนั้นก็ล้วนมาจากกรรมทั้งสิ้น อาจใช้คำบริกรรมระลึกในใจอยู่เสมอว่า “กรรมหนอๆ” หรือ “เวรกรรมๆ” พูดซ้ำๆ จนจิตคลายอารมณ์ที่ดำเนินอยู่ หากจิตจะตรึกเรื่องกาม ก็ “เวรกรรมๆ” พูดซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนจิตคลายการตรึกนึกถึงเรื่องกามในที่สุด สามารถใช้กำลังสมถะที่กล้าแกร่งนี้ข่มกำราบกิเลสได้ทุกชนิด ก็ถือว่าสำเร็จขั้นสูงสุดของการใช้คำบริกรรมนี้



๔.๔) “พุทธานุสติ” คือ ให้ระลึกถึง “พระพุทธเจ้า” หรือ “พระธรรม” เป็นอารมณ์ ไม่ให้จิตหลุดออกไปสู่อย่างอื่นเลย เพราะเราจะเดินตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แบบนี้เหมาะกับคนที่มีปัญญาอยู่แล้ว หรือมีวิริยะมาก แต่ไม่เหมาะกับศรัทธาจริต เพราะจะส่งผลให้เกิดการยึดติดพระพุทธเจ้าแทน (แต่ก็สามารถทำได้) ให้บริกรรมในใจ “พุทธโธ” ตามลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา ลมหายใจเข้า “พุทธ” ลมหายใจออก “โธ” หรือใช้บทสวดพระนามพระพุทธเจ้าบางพระองค์ก็ได้ เช่น “อมิตาพุทธ” หรือ “นำโม อานีทอฝอ” จนจิตคลายจากกิเลส สำรอกได้ทุกชนิด นับว่าทำสำเร็จ



๔.๕) “สุญญตานุสติ” คือ ให้ระลึกถึงสรรพสิ่ง “ว่าง” ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารจะให้ยึดมั่นถือมั่น สรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไป ไม่รู้จะยึดมั่นอะไรเป็นหลักได้ สรรพสิ่งล้วนแยกย่อยกลายเป็นเหมือนทรายกองเดียวกัน จนในที่สุดละเอียดจนไม่เหลืออะไรเป็นตัวเป็นตน คือ “สูญสิ้นไป” จิตระลึกถึงสรรพสิ่งล้นเป็นมายาว่างไม่มีสาระแนสารแห่งการยึดมั่นนี้ เกิดขึ้นจนกล้าแกร่งกำราบกิเลสได้ทุกชนิดแล้ว ถือว่าผ่านด่านนี้ได้



การฝึกจิตจนสำเร็จขั้นนี้เรียกว่าสำเร็จ “เจโตวิมุติ” คือ ฝึกจิตจนมีกำลังกำราบกิเลสได้หมดชั่วคราว แต่ยังไม่มี “ดวงตาเห็นธรรม” ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง เรียกได้ว่า “บู๊” สูงสุดแล้ว ยังขาด “บุ๋น” เท่านั้นเอง ขออธิบายว่า “เจโตวิมุติ” ในที่นี้ ไม่ใช่พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุติ แต่ใช้หมายถึง “การบรรลุสมถะขั้นสูง” กล่าวคือ “วิมุติ” หมายถึงการหลุดพ้นหรือบรรลุ ส่วน “เจโต” หมายถึงพลังจิตขั้นสูง ไม่ใช่พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุติแต่อย่างใด กรณี พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตินั้น นอกจากจะบรรลุเจโตวิมุติแบบนี้แล้ว ยังจะต้องใช้ “ปัญญา” รู้แจ้งแทงตลอดถึงสรรพสิ่งด้วยตนเอง จนมี “ดวงตาเห็นธรรม” เรียกว่า “อ๋อ แป๊งแว้บ” ด้วยตนเองนั่นเอง เรียกว่าใช้ปัญญาเพื่อความวิมุติ เป็น “ปัญญาวิมุติ” ในลำดับสุดท้าย แต่ได้เจโตวิมุติก่อน จึงจัดเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุติ นั่นเอง ขอให้เข้าใจตามความหมายนี้ด้วย



๕. ฝึกใช้พลังจิตเอาชนะใจ (ขั้นประหารกิเลส/สมุทรเฉทประหาร)

ขั้นก่อนหน้านี้เป็นการกำราบกิเลสเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น ไม่ใช่การขุดลอกสันดอนกิเลสให้สิ้นไป จึงเป็นการใช้กำลังสมถะข่มกำราบกิเลสเพียงชั่วคราวไม่ถาวร ขั้นต่อไปนี้ จะเป็นการเอาชนะกิเลสโดยสิ้นเชิง คือ ด่านประตูอรหันต์นั่นเอง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ใช้เวลาไม่นาน การบรรลุธรรมจะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีทองเท่านั้น ไม่ได้ใช้การยืดเยื้อแต่ประการใด เสมือนประกายไฟจากฟ้าผ่า แว่บเดียวเท่านั้นก็สามารถบรรลุได้ทันที ไม่มีลักษณะของการค่อยๆ บรรลุแต่อย่างใด แต่ก่อนจะเข้าสู่ช่วงบรรลุธรรมนั้น จะผ่านด่านต่างๆ และวิธีการฝึกจิตต่างๆ ก่อน ดังนั้น จึงไม่อาจบรรลุในทันทีที่เริ่มทำได้ จำต้องทำแล้วรอจังหวะวินาทีทองนั้น หากจังหวะวินาทีทองมาถึง และทำได้สำเร็จก็สามารถบรรลุได้ทันที โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้



๕.๑) ดูจิตดับในขณะเข้าฌานนั่งสมาธิ

ให้นั่งสมาธิเข้าฌาน แล้วดูการดับไปของจิตทุกดวง ก่อนเข้าสู่ “ฌานสี่” ช่วงรอยต่อองค์ฌานระหว่างฌานสามเข้าฌานสี่ เป็น “เสี้ยววินาทีบรรลุธรรม” ในแบบ “อนุโลมญาณ” คือ เดินเข้าสู่องค์ฌานไปข้างหน้า จากฌานหนึ่งไปถึงฌานสี่ หากสติไวพอเห็นการดับไปของจิตก่อนเข้าสู่ฌานสี่ได้ ปัญญาสว่างไสวขึ้นมาก็บรรลุทันที การจะบรรลุธรรมได้ในขณะเข้าสมาธินี้นับว่าต้องมี “วสี” คือ ความชำนาญในองค์ฌานสูงมาก จำต้องมีสติไวมากที่จะเห็นการเกิดดับของจิตก่อนเข้าสู่ฌานสี่ ต้องฝึกเข้าหน้าถอยหลังระหว่างองค์ฌานสามและสี่ อนุโลม ปฏิโลมอยู่อย่างนั้นเอง กลับไปกลับมาอยู่เช่นนั้น สำหรับผู้ที่ชำนาญในฌานแล้ว ก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยง่าย แต่หากไม่เก่งในการเข้าฌานจำต้องใช้เคล็ด “วิปัสสนาลืมตา” ดังที่จะอธิบายต่อไป



๕.๒) ดูจิตดับขณะวิปัสสนาลืมตา

เวลาทำงานลืมตาทำอะไรให้ทำซ้ำๆ กัน จนสมองจดจำกระบวนการทำงานแล้วตั้งโปรแกรมอัตโนมัติ ในที่สุดสมองก็จะหยุดพักการสั่งงาน ความคิด ความจำ จะดับไปก่อน จากนั้น จิตผู้รู้ ผู้รับความรู้สึกเวทนาสุขทุกข์ ก็จะดับไปด้วย เป็น “อขมทุกข์อขมสุข” คือ ภาวะที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขทั้งสองอย่างเลย ถึงตอนนี้ความคิดความรู้สึกใดๆ จะดับไปด้วย เมื่อว่างเป็น “สุญญาตา” แล้วได้สติ ก็แป๊งแว้บบรรลุแบบฉับพลันได้ทันที การบรรลุแบบนี้เป็นการบรรลุโดยวิปัสสนาลืมตาแบบเซน เวลาทำงานให้ทำงานที่มีกระบวนการทำงานซ้ำๆ เช่น กวาดลานวัด, ขัดพื้นวัด, ดำนา, กระแทกหูกทอผ้า, ตำน้ำพริก, ปั่นจักรยาน ฯลฯ นี่คือ เสี้ยววินาทีที่จะบรรลุธรรมทั้งสิ้น



เมื่อฝึกจิตจนสำเร็จขั้นนี้ เรียกว่า “บรรลุอรหันต์” เป็นการบรรลุการฝึกจิตสูงสุดทางพระพุทธศาสนาสำหรับสาวกภูมิทั่วไป ถือได้ว่าเป็น “อเสขบุคคล” คือ บุคคลที่จบการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกก็ได้ แต่ในบทความนี้ จะกล่าวถึงการฝึกจิตขั้นต่อๆ ไป ซึ่งเป็นแนวทางของ “พุทธภูมิ” นั่นคือการฝึกจิตเพื่อบำเพ็ญบารมีนั่นเอง



๖. ฝึกใช้พลังจิตนำทางใจ (ขั้นประยุกต์ใช้/ปฏิเวธ)

เมื่อจิตเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งแล้ว มีธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมเปิดแล้ว สิ่งที่จะฝึกต่อไปคือ “ฝึกจิตรู้” ให้รู้เรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ณ จุดนี้ จิตรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งจึงปราศจากทุกข์ทางใจอีก จิตเป็นอิสรภาพจากใจอย่างเต็มที่ มีสุขเต็มสมบูรณ์ เราจะใช้จิตและฝึกจิตเพื่อให้เกิด “ปัญญาบารมี” เพิ่มมากขึ้น เพราะการมีดวงตาเห็นธรรมนี้ เป็นเพียงการบรรลุ “อรหันตสาวก” ยังไม่ได้ “สัพพัญญูญาณ” คือ ไม่ใช่ผู้รู้ทุกสิ่ง แต่เราจะบำเพ็ญเพียรเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ต่อไป (กรณีไม่ห่มเหลือง) ดังนั้น เราจึงจะมาฝึก “จิตผู้รู้” ให้มีความรู้กว้างขวางและยาวไกลละเอียดยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มปัญญาบารมี และจะทำให้ได้ปัญญาไปช่วยเหลือผู้คน ดังนี้



๖.๑) การฝึกลำดับเหตุผลต้นกรรม ย้อนไปข้างหลังและเดินไปหน้า เพื่อสืบสาวดูสาเหตุรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา และพิจารณาประเมินผลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ทำนาย) จนสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ เรียกว่าการหาแนวทางแก้ไข

๖.๒) การฝึกจิตรู้ใจผู้อื่น ให้ฝึกจิตเพื่ออ่านความคิดหรือจิตใจของผู้ที่เราต้องการทราบ จำต้องแยกแยะให้ออกว่าคนดีคนเลวแตกต่างกันอย่างไร โดยไม่ได้ดูเพียงเปลือกนอก แต่ดูลึกเข้าไปข้างในจิตที่แท้จริง ก็จะสามารถจัดกำลังคนได้ถูกต้อง

๖.๓) การฝึกจิตนำใจผู้อื่น หรือ “การสะกดจิตผู้อื่น” นั่นเอง เป็นการใช้พลังจิตที่ฝึกดีแล้วเพื่อให้ผู้อื่นทำตามใจตน หรือคล้อยตามสิ่งที่ตนต้องการให้ทำ เมื่อฝึกจิตได้สำเร็จถึงขั้นนี้ จะมีความสามารถเป็นผู้นำ มีบริวาร สามารถทำงานใหญ่ได้



๗. ฝึกประสานจิตใจเป็นหนึ่ง (ขั้นหลอมรวมสู่การบำเพ็ญบารมี)

ขั้นตอนนี้เป็น “ศิลปะขั้นสูง - ไร้ลักษณ์” ไม่มีถูกหรือผิด แตกต่างไปตามแต่แนวทางของแต่ละคน ให้ศึกษาแนวทางได้เอง จากพระอรหันต์ที่ช่วยเหลือมวลมนุษย์มาเป็นแบบอย่าง ว่าท่านได้ผสมผสานจิตใจหลอมรวมเพื่อช่วยเหลือผู้คนได้อย่างไร โดยเข้าหาสังคม เพื่อยื่นมือเข้าช่วยเหลือสังคม พัฒนาจนได้แบบของตนเอง สูงสุดของขั้นนี้คือ “ยูไล” คือการตั้งปณิธานหมุนกงล้อธรรมให้สำเร็จได้ในชาตินั้นๆ นั่นเอง



สรุปลำดับการฝึกจิตานุสติปัฏฐาน ๗ ขั้น

๑. ฝึกดูจิตและใจ (ฝึกเป็นนักฝันอย่างมีสติ)

๒. ฝึกแยกแยะจิตและใจ (ฝึกนั่งสมาธิเข้าฌาน)

๓. ฝึกใช้ใจตามดูจิต (ฝึกวิปัสสนาขั้นต้น)

๔. ฝึกให้จิตมีกำลังเหนือใจ (ฝึกใช้สมถะเสริมวิปัสสนา)

๕. การใช้พลังจิตเอาชนะใจ (ใช้ประหารกิเลส - บรรลุ)

๖. ฝึกใช้พลังจิตนำทางใจ (ขั้นประยุกต์ใช้ - ปฏิเวธ)

๗. ฝึกประสานจิตใจเป็นหนึ่ง (ขั้นการบำเพ็ญบารมี)

โดย physigmund_foid"